เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 63 #เก็บตกจากวชิรวิทย์ สัมภาษณ์นายชิน เขื่อนจักร์ สมาชิกน้ำพางโมเดลคนแรก ที่ตัดสินใจเปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาทยอยปลูกไม้ผลอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและแก้ปัญหาภูเขาหัวโล้น หลัง คสช. เริ่มนโยบายทวงคืนผืนป่า เมื่อปี 2557 ซึ่งชาวที่ทำกินสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษเริ่มได้รับผลกระทบ
อนึ่ง ต.น้ำพาง ไม่มีที่ดินโฉนด มีแต่ที่อุทยานแห่งชาติภูคา และอุทยานแห่งชาติแม่จริม รวมทั้งที่ป่าสงวน
การคุ้มครองสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ควรมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทวิถีชีวิตเนื่องจากเป็นที่ดินที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านที่นี่ ได้รับผลกระทบจากโครงการทวงคืนผืนป่าก่อนจะพัฒนามาเป็นโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. ซึ่งก็ยังมีข้อเงื่อนไขกำหนดห้าม ทำกินบนพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ชั้น 2 ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้ มีความลาดชันและเป็นพื้นที่ต้นน้ำ ไม่สามารถที่จะเข้าเงื่อนไขได้
แต่ "น้ำพางโมเดล" พยายามพิสูจน์ให้เห็นว่าสิทธิ์ในที่ดินทำกินของชาวบ้านควบคู่ไปกับการรักษาป่าด้วยการพยายามในการเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่รัฐควรหันมาสนับสนุน
"การเปลี่ยนภูเขาหัวโล้นให้เป็นเกษตรเชิงนิเวศสิ่งสำคัญที่สุดคือการจัดการน้ำ ปัจจุบันใช้น้ำจากภูเขา แต่ในช่วงฤดูแล้งก็จะมีไม่เพียงพอจึงต้องการสนับสนุนส่วนนี้เพิ่มหากรัฐต้องการจะแก้ไขปัญหาภูเขาหัวโล้น ให้เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวโพดอย่างจริงจัง"