ประวัติ
มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ(มพน.) “เป็นองค์กรนำในการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาสิทธิที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติและเกิดการรองรับสิทธิชุมชนโดยมีกฎหมายยอมรับ”และเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีประสบการณ์การทำงานด้านการพัฒนาศักยภาพขององค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชาวบ้านในพื้นที่ภาคเหนือของไทยมากกว่า 20 ปี
มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ทำงานสนับสนุนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน โดยการสร้างความเข้มแข็งองค์กรชาวบ้านและเครือข่ายองค์กรชาวบ้าน นอกจากนี้ยัง ทำงานวิเคราะห์นโยบาย การจัดการทรัพยากรของไทย และการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางนโยบาย เน้นการทำงานโดยเสริมสร้างศักยภาพของเครือข่ายองค์กรชาวบ้านเพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย โดยมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือจะทำหน้าที่ให้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นทางนโยบายและการฝึกอบรมการเจรจาต่อรองกับหน่วยงานรัฐในหลายระดับ
นอกจากนี้ยัง สนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ในภูมิภาคผ่านวิธีการฝึกอบรมใน การพัฒนาองค์กรและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรของตน โดยทางมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ จะเป็นศูนย์กลางหลักในการให้คนทำงานเข้าร่วมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแสดงความคิดเห็นต่างๆ ปรัชญาองค์กร หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ คือการสนับสนุนการพัฒนาทางสังคมโดยให้ความสำคัญกับทั้งเรื่องความยุติธรรมทางสังคมและระบบการจัดการทางนิเวศวิทยาที่ยั่งยืน โดยเชื่อว่าการพัฒนาจะต้องทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้นมากกว่าการเน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเดียว ทุกๆ คนย่อมมีสิทธิที่เท่าเทียมกันและต้องได้รับการคุ้มครองสิทธินั้น การตัดสินใจเกี่ยวกับการพัฒนาในทุกระดับจึงควรต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญจึงจะได้ส่งเสริม การร่วมมือระหว่างกลุ่มคนที่แตกต่างกันในทุกระดับของสังคม การพัฒนาวัฒนธรรมควรจะให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียมทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง องค์ความรู้พื้นฐานความรู้ดั้งเดิมจึงควรถูกนำไปใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ
ภายใต้มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ได้มีการจัดตั้ง 'สหพันธ์เกษตรการภาคเหนือ' หรือสกน.โดยการรวมตัวจากสมาชิกเกษตรกรทั่วภาคเหนือในการเข้าร่วมโดยมีเป้าประสงค์เพื่อสรุปบทเรียนการต่อสู้และผลักดัน การแก้ไขปัญหาของเกษตรกร โดยเมื่อวันที่ 21 – 22 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ได้มีตัวแทนจากองค์กรเกษตรกรทั่วภาคเหนือเข้าร่วมประมาณ 300 คน โดยมีเป้าประสงค์เพื่อสรุปบทเรียนการต่อสู้และผลักดันการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2532 - 2542) บทเรียนการต่อสู้ 10 ปีขององค์กรเกษตรกรภาคเหนือ สรุปได้ว่าการแยกกันต่อสู้เฉพาะกลุ่ม เฉพาะประเด็นทำให้ออองค์กรเกษตรกรขาดความเป็นเอกภาพและ ไม่สามารถสร้างพลังในการต่อรองเพื่อแก้ไขปัญหาได้ แม้ว่าจะประสบผลสำเร็จในบางกรณี แต่ก็ไม่สามารถนำไปสู่ การเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างและนโยบายที่เป็นสาเหตุและต้นตอของปัญหาเกษตรกร
องค์กรเกษตรกรที่เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนั้นจึงมีมติร่วมกันอย่างเป็นเอกฉันท์ในการจัดตั้งองค์กรของเกษตรกรขึ้น ภายใต้ชื่อ “สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ” เพื่อเป็นองค์กรประสานความร่วมมือผนึกกำลังและสร้างความเป็นเอกภาพระหว่างองค์กรเกษตรกร ในการรณรงค์ผลักดันการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับชุมชนและในระดับนโยบาย โดยมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาหลักอันเป็นปัญหาร่วมของเกษตรกร