ผืนดินในที่ลาดชันที่ถูกเผาเตรียมไว้เพื่อสร้างแร่ธาตุและสารอาหารในดินให้สมบูรณ์เพียงพอต่อการปลูกข้าวในปีนี้ กำลังตากแดดรอคอยการมาถึงของน้ำฝนหยดแรกของปี ซึ่งปีนี้คนในชุมชนได้ประกอบพิธีกรรมขอฝนจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชุมชนเคารพนับถือ ตามความเชื่อดั้งเดิม เพียงไม่กี่วันถัดมาฝนแรกก็มาตกลงมาให้ความชุ่มฉ่ำกับทั้งผืนดิน ทั้งจิตใจของชาวบ้านที่รอคอยการเริ่มต้นฤดูไร่หมุนเวียนของปีนี้
"หลังฝนตกแล้ว ถ้าถึงวันดี วันที่เหมาะกับเรา ก็จะเริ่มหยอดข้าวเลย รอนานกว่านี้จะไม่ดี”
“ต้องดูก่อนหนาว่าเจ้าของไร่เขาจะทำอะไรมาให้เรากิน เราห่อแค่ข้าวไปก็พอ”
สิ่งหนึ่งที่เห็นคือความเชื่อดั้งเดิมในการมี “ปราชญ์ด้านการเสี่ยงทาย” ของชุมชน เป็นผู้ทำพิธีเพื่อดูว่าฤกษ์วันไหนเป็นฤกษ์ที่ดีสำหรับแต่ละครอบครัวในการเริ่มหยอดข้าว รวมไปถึงการดูว่าวัตถุดิบอะไรที่เจ้าของไร่จะนำมาประกอบอาหารเพื่อเลี้ยงคนในชุมชนที่มาช่วยกันลงแรงหยอดข้าว ซึ่งชุมชนยังยึดธรรมเนียมนี้เป็นสิ่งสำคัญในช่วงการหยอดข้าว นอกจากความละเอียดอ่อนด้านความเชื่อ อีกสิ่งหนึ่งที่แฝงอยู่ในคำอธิบายอันเรียบง่ายจากคนในชุมชนว่าหากเราหยอดข้าวหลังฝนตกช้าเกินไป ทำไมถึงไม่ดี?
หากทิ้งช่วงในการหยอดข้าวให้ห่างจากการเผาเตรียมไร่นานเกิน 4-6 เดือน ความอุดมสมบูรณ์ของปุ๋ยในดินที่เกิดจากขี้เถ้าจะลดลง เพราะหญ้าและวัชพืชอื่น ๆ ในไร่ จะใช้แร่ธาตุและสารอาหารในดินไปจนเกือบหมด นอกจากวัชพืชจะเยอะแล้ว ข้าวที่ปลูกช้าเกินไปก็จะได้รับสารอาหารที่เหลือในดินน้อยมาก ทำให้การเจริญเติบโตไม่เต็มที่ และได้ผลผลิตน้อยกว่าเท่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น เมื่อมีการบังคับใช้มาตรการห้ามเผาซึ่งตรงกับช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการเผาเตรียมดิน ทำให้ชาวบ้านหลายครอบครัวมีความกังวลใจกับโทษจากมาตรการนี้ ต้องตัดสินใจชิงเผาก่อนช่วงที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบกับมาตรการห้ามเผาที่ประกาศบังคับใช้ แม้ว่าชาวบ้านในชุมชนจะมีการป้องกันและจัดการไฟด้วยการทำแนวกันไฟอย่างแน่นหนาและรอบด้านแล้วก็ตาม ซึ่งกว่าจะถึงเวลาในการหยอดข้าว วัชพืชก็ได้ใช้แร่ธาตุในดินไปจนเกือบหมดเสียแล้ว
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า “องค์ความรู้ด้านเกษตรกรรม” และ “แนวทางในการบริหารจัดการไฟ”ของชุมชน ไม่สามารถผ่านเข้าไปในประตูที่ปิดตายด้วยอคติของหน่วยงานรัฐที่มองลงมาจากหอคอยงาช้าง และลงกลอนประตูบานนั้นไว้อย่างแน่นหนาจนไม่เห็นถึงผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรการและนโยบายของตนที่เกิดขึ้นกับชุมชนในระดับพื้นที่ที่มีศักยภาพในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างดี
ความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์ข้าวและผู้คน
การหยอดข้าวในระบบไร่หมุนเวียน จะใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้เลือกสรรไว้จากผลผลิตในฤดูกาลก่อน มาหยอดผสมผสานกันอย่างน้อยสามสายพันธุ์ นอกจากเมล็ดพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ต่าง ๆ แล้ว ยังมีเมล็ดพันธุ์พืชชนิดอื่น ๆ ที่หยอดผสมลงไปในหลุมด้วย ซึ่งความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์พืชในไร่หมุนเวียนอาจจะเปรียบได้กับความหลากหลายทางช่วงวัยของผู้คนที่กำลังหยอดข้าวในไร่แปลงเดียวกันตรงหน้านี้เช่นกัน มีตั้งแต่หนุ่มสาววัยกลางคนที่มีพละกำลังร่างกายแข็งแรง ผู้เฒ่าที่แม้กำลังกายจะเริ่มอ่อนโรยแต่ความมุ่งมั่นในแววตาไม่ได้อ่อนโรยตาม และยังมีเด็ก ๆ ที่มีพลังงานเหลือล้น หยอดข้าวไปพลาง เล่นไปพลางอย่างไม่รู้จักเหนื่อย
การมาลงแรงช่วยกันแม้จะไม่ใช่แปลงไร่ข้าวของตนเอง ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นแค่ตอนหยอดข้าว และคงตอบไม่ได้ว่าการลงแรงหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เอามื้อ” เกิดขึ้นในกระบวนการไหนของการทำไร่หมุนเวียน เพราะทุก ๆ กระบวนการตลอดฤดูกาลไร่หมุนเวียน จะเห็นชาวบ้านมา “เอามื้อ” และ “ส้ายมื้อ” อยู่เสมอ
ภาพเสียมที่ขุดลงไปในดินครั้งแล้วครั้งเล่า เมล็ดข้าวที่หยอดลงไปในหลุมดินเรื่อย ๆ ประกอบกับเสียงพูดคุยกันไป หยอกล้อกันบ้างระหว่างทำงาน แม้จะมีภาพเบื้องหลังเป็นเปลวแดดตอนเที่ยงวันที่ร้อนจัด ก็ไม่ได้ลดทอนภาพความมีชีวิตชีวาของผู้คนในไร่หมุนเวียนที่อยู่เบื้องหน้าได้เลย
“ค่อย ๆ เดินไปนี่กะ เดินไปโตยกั๋น”
ประโยคที่ได้ยินแทบตลอดการเดินขึ้นลงบริเวณแปลงไร่ที่จะปลูกข้าวในฤดูกาลนี้ ด้วยความไม่คุ้นชินในการเดินบนพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ทำให้การเดินเป็นไปได้ค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับชาวบ้านที่เดินขึ้นลงแทบนับครั้งไม่ถ้วน ด้วยความเกรงใจกลัวว่าหากเดินนำข้างหน้า จะเกะกะและทำให้ชาวบ้านเริ่มหยอดข้าวได้ช้า หรือแม้แต่ขาเดินกลับไปพักทานอาหารกลางวัน ก็กลัวว่าจะทำให้ชาวบ้านไปพักผ่อนได้ช้าเหมือนกัน แต่สิ่งที่ได้รับจากชาวบ้านกลับไม่ใช่ความหงุดหงิดที่เราเดินช้า แต่กลับเป็นรอยยิ้มที่เต็มไปด้วยความจริงใจ พร้อมคำถามว่าร้อนไหม? เหนื่อยไหม? เดินไหวหรือเปล่า? และมีพี่สาวใจดีมาช่วยจับมือเราเดินลงไปพร้อม ๆ กัน
หลังทานอาหารกลางวันเสร็จ เราเดินขึ้นไปบนแปลงเป็นครั้งสุดท้ายของการไปหยอดข้าววันนั้น เมล็ดพันธุ์ข้าวอีกไม่มาก ถูกแจกจ่ายเพื่อไปหยอดลงหลุมหลุมแล้วหลุมเล่าจนถึงหลุมสุดท้าย ใช้เวลาเพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เมื่อขาเดินกลับลงมา ก็มีหญิงสาวผู้เป็นเจ้าของไร่ข้าววันนี้มาจับมือเราเดินลงไปด้วยกันอีกเช่นเคย
คงไม่ใช่แค่ดินที่ได้รับน้ำฝน คงไม่ใช่แค่ชาวบ้านชุมชนบ้านแม่ส้านที่ได้เริ่มฤดูกาลไร่หมุนเวียนใหม่ คงเป็นเราด้วยเช่นกันที่ได้รับการโอบกอดจากผู้คนในชุมชน คล้ายกับว่าได้หยอดเมล็ดพันธุ์เล็ก ๆ ไว้ในใจของเรา และคงจะดีไม่น้อยหากเมล็ดพันธุ์นี้ เติบโตเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง และแพร่กระจายไปยังหัวใจของมนุษย์ร่วมสังคมอีกนับแสนนับล้านคน เช่นเดียวกับเมล็ดพันธุ์ข้าวในไร่หมุนเวียนที่กำลังจะเติบโตและผลิดอกออกผลต่อไป