• 27 ก.ค. 2567 13:46
กะเหรี่ยงดอยสะเก็ด จี้ ‘เศรษฐา’ ยุติโครงการจัดที่ดิน คทช. ในพื้นที่ ขอนายกฯ คนรวยเห็นหัวคนจน อย่าซ้ำเติมปัญหาที่ดินทำกิน

กะเหรี่ยงดอยสะเก็ด จี้ ‘เศรษฐา’ ยุติโครงการจัดที่ดิน คทช. ในพื้นที่ ขอนายกฯ คนรวยเห็นหัวคนจน อย่าซ้ำเติมปัญหาที่ดินทำกิน

กะเหรี่ยงดอยสะเก็ด จี้ ‘เศรษฐา’ ยุติโครงการจัดที่ดิน คทช. ในพื้นที่ ขอนายกฯ คนรวยเห็นหัวคนจน อย่าซ้ำเติมปัญหาที่ดินทำกิน

ชาวกะเหรี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ จี้ ‘เศรษฐา’ ยุติโครงการจัดที่ดิน คทช. ในพื้นที่ ย้ำกระทบวิถีชาติพันธุ์ พร้อมแนะแนวทางแก้นโยบายที่ดิน-ป่าไม้อย่างเป็นธรรม ดัน กม. คุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง มองนโยบายที่ดิน ครม. เศรษฐาน่าห่วง ขอนายกฯ คนรวยเห็นหัวคนจนบ้าง

16 ก.ย. 2566 เวลาประมาณ 11.00 น. ณ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ต.วงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ตามกำหนดการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมราชการ จ.เชียงใหม่ โดยนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และคณะ กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านห้วยผาตื่น หมู่ที่ 5 และหย่อมบ้านดอย หมู่ที่ 2 ต.ป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ในนามสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ยุติการดำเนินโครงการภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในพื้นที่ชุมชน และข้อเสนอต่อแนวทางการแก้ไขกฎหมายและนโยบายด้านป่าไม้-ที่ดินอย่างเป็นธรรม โดยมีคณะทำงานของนายกรัฐมนตรีเข้ารับหนังสือดังกล่าว
หนังสือระบุว่า สืบเนื่องจากพื้นที่บ้านห้วยผาตื่น หมู่ที่ 5 และหย่อมบ้านดอย หมู่ที่ 2 ต.ป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ที่ได้ขับเคลื่อนเรื่องของการแก้ไขปัญหาด้านที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง โดยการผลักดันแนวทางการจัดการที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 และมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการรับรองสิทธิชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ชุมชนกลับต้องเผชิญความท้าทายจากนโยบายด้านการจัดการที่ดินและทรัพยากรของรัฐบาล รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับพื้นที่ กล่าวคือ หน่วยงานพยายามผลักดันแนวทางการจัดการที่ดินตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 พ.ย. 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ซึ่งเป็นแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับหลักการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร
ปรากฏหลักเกณฑ์หลายประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับวิถีของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะการจำแนกชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ การใช้ภาพถ่ายทางอากาศพิสูจน์สิทธิตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิ.ย. 2541 การปลูกป่า ฟื้นฟูป่าในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน การต้องขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวจากผู้ว่าราชการจังหวัด ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 รวมถึงการกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขการใช้ที่ดินที่จะนำไปสู่การถูกแย่งยึดที่ดินได้ในอนาคต
“ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่เข้ามาดำเนินการเร่งรัดเพื่อให้ชาวบ้านยินยอมรับแนวทางการจัดการที่ดินตามแนวทาง คทช. ดังกล่าว โดยเราพบว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาชี้แจงนั้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ คทช. ที่ไม่รอบด้าน รวบรัดกระบวนการ กดดันชาวบ้านให้ยินยอมรับโครงการดังกล่าวโดยขาดการมีส่วนร่วม ซึ่งทำให้ชาวบ้านกังวลใจต่อท่าทีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะนำไปสู่การแย่งยึดที่ดินและละเมิดสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์” หนังสือระบุ


มองนโยบายป่าไม้-ที่ดิน ครม. เศรษฐา น่าห่วง

จรัสศรี จันทร์อ้าย ชาวบ้านผาตื่น อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า นโยบายของ ครม. เศรษฐาไม่ได้ตอบสนองคนจนแบบเราที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่ามาดั้งเดิม หากเป็นไปตามที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ยืนยันว่าจะเดินหน้านโยบาย คทช. คนอยู่กับป่าจะต้องเจอปัญหาหนัก เนื่องจากหลักคิดของ คทช. คือไม่ยอมรับคนกับป่า ชุมชนจึงเรียกร้องการจัดที่ดินแบบ ‘โฉนดชุมชน’ ซึ่งเป็นทางรอดของคนในป่า โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนให้ชุมชนมีสิทธิจัดการที่ดินและทรัพยากร เอื้ออำนวยให้ชุมชนยังสามารถมีที่ทำกินเป็นของตนเอง ยั่งยืนไปถึงลูกหลาน
“รูปแบบที่รัฐพยายามจัดให้แบบ คทช. หมายความว่าชาวบ้านเป็นแค่ผู้เช่าอยู่ในที่ดินทำกินของตัวเอง มันไม่ใช่สิทธิแล้ว มันเป็นเรื่องเงื่อนไขที่รัฐกำหนดมาแล้วไม่เป็นธรรม เขาจะเพิกถอนการใช้ที่ดินของเราได้ตลอด ส่วนเราต้องขออาศัยในที่ดินของเราทั้งที่เราอยู่มาก่อน วันดีคืนดีรัฐก็จะเพิ่มพื้นที่ป่า ยึดที่ดินทำกินเราไปไถแล้วปลูกป่าใหม่ เขาจะทำไปทำไม เพื่ออะไร ชาวบ้านจะได้อะไร ใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์ แล้วมันตอบโจทย์ความยั่งยืนหรือไม่” จรัสศรีกล่าว
นอกจากนั้นชาวบ้านยังกังวลกับนโยบายคาร์บอนเครดิตที่ชุมชนเองมองว่าไม่แก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่จะนำไปสู่การแย่งยึดที่ดินของคนจนไปประเคนให้นายทุน พร้อมย้ำอยากให้นายกรัฐมนตรีคนรวยเห็นหัวคนจนบ้าง
“ชาวบ้านก็กังวลอยู่ว่าเขาจะแยกคนกับป่าออกจากกันเลยเหรอ ชาวบ้านคือชาวบ้าน ป่าคือป่า แบบนั้นเลยใช่ไหม จะไม่ให้คนกับป่าอยู่ด้วยกันเลยใช่ไหม อยากบอกท่านนายกรัฐมนตรีคนรวยว่าให้เห็นหัวคนจนบ้าง เพราะคนจนจะตายอยู่แล้ว” ชาวบ้านดอยสะเก็ดย้ำ

ยื่น 6 ข้อเรียกร้องแก้ปัญหาป่าไม้-ที่ดิน-ชาติพันธุ์ ถึงเศรษฐา

ชุมชนบ้านห้วยผาตื่น และชุมชนหย่อมบ้านดอย ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ในนามสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) จึงมีข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ดังนี้
1. ยุติการดำเนินแนวทางการจัดการที่ดินตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 พ.ย. 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ซึ่งเป็นแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในพื้นที่ชุมชนบ้านห้วยผาตื่นและชุมชนหย่อมบ้านดอย ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยทันที
2. กำกับดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะหน่วยงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มิให้ดำเนินการใดๆ อันเป็นการกระทบต่อสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และวิถีวัฒนธรรมของชุมชน ไม่ข่มขู่ คุกคาม และผลิตซ้ำอคติทางชาติพันธุ์และอคติต่อคนอยู่กับป่า
3. เร่งปรับแก้กฎหมายด้านการจัดการป่าไม้ให้รับรองหลักสิทธิชุมชนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ และให้เร่งบรรจุแนวทางการบริหารจัดการที่ดิน ป่าไม้ รูปแบบสิทธิชุมชน โฉนดชุมชน ในนโยบายของรัฐบาล ให้เป็นไปตามปฏิญญาสากลที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้ โดยเฉพาะปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง
4. เร่งผลักดันกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ที่มีแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง
5. ยุตินโยบายว่าด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่าในรูปแบบการปลูกป่าทับซ้อนกับชุมชนดั้งเดิมทุกกรณี ทั้งนโยบายการเพิ่มพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์ตามแผนคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และการเอื้อกลุ่มทุนฟอกเชียวปลูกป่าค้าคาร์บอนเครดิต ตามแนวนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และเป้าหมายการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero
6. นายกรัฐมนตรีควรแถลงขอโทษต่อกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยต่อกรณีการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยต้องแถลงต่อสาธารณะ