• 21 พ.ย. 2567 16:47
12 ปี ความล้มเหลว บจธ. ‘สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ’ ขีดเส้น 1 เดือน จี้เดินหน้า 4 พื้นที่นำร่องธนาคารที่ดิน เป็นเดิมพันกระจายถือครองที่ดิน-ย้ำแนวทางโฉนดชุมชน

12 ปี ความล้มเหลว บจธ. ‘สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ’ ขีดเส้น 1 เดือน จี้เดินหน้า 4 พื้นที่นำร่องธนาคารที่ดิน เป็นเดิมพันกระจายถือครองที่ดิน-ย้ำแนวทางโฉนดชุมชน

12 ปี ความล้มเหลว บจธ. ‘สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ’ ขีดเส้น 1 เดือน จี้เดินหน้า 4 พื้นที่นำร่องธนาคารที่ดิน เป็นเดิมพันกระจายถือครองที่ดิน-ย้ำแนวทางโฉนดชุมชน

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ขีดเส้น 1 เดือน จี้ บจธ. เดินหน้า 4 พื้นที่นำร่องธนาคารที่ดิน ชี้ 12 ปีดำเนินการล้มเหลว ติดอุปสรรคล่าช้า-ไม่ยึดมั่นเจตนารมณ์กระจายถือครองที่ดินเป็นธรรม ย้ำแนวทางโฉนดชุมชนสู่รัฐบาลใหม่ ด้าน ผอ. บจธ. รับเร่งดำเนินการ

23 ส.ค. 2566 สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ได้จัดเสวนา ‘ทบทวนเจตนารมณ์การก่อตั้งธนาคารที่ดิน’ ณ สหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนป่าซาง จำกัด ต.น้ำดิบ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ตั้งแต่เวลา 11.30 น. โดยประเด็นสำคัญคือ การทบทวนเจตนารมณ์ในการก่อตั้งธนาคารที่ดิน และถอดบทเรียนการดำเนินการที่ผ่านมาของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) ว่ามีปัญหาอย่างไร และแนวทางต่อไปในการหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินโดยมีตัวแทนสหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนป่าซาง ตัวแทนสกน.จังหวัดลำพูน และตัวแทนจากบจธ.ร่วมเสวนา และมีการอ่านแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์โดยสกน.ปิดท้าย
ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ รังสรรค์ แสนสองแคว สหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนป่าซาง, สุแก้ว ฟุงฟู สกน.จังหวัดลำพูน, ธนา ยะโสภา สกน.จังหวัดลำพูน, ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ แรงงานวิชาการผู้ติดตามนโยบายป่าไม้ที่ดิน, กุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนวยการบจธ. และนิรันดร์ สุพุทธี เจ้าหน้าที่บจธ. ดำเนินรายการโดย พชร คำชำนาญ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.)

เจตนารมณ์ของธนาคารที่ดินตามนิยามและภาพฝันของประชาชน

สุแก้ว ฟุงฟู สกน.จังหวัดลำพูน กล่าวว่า มุมมองในการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์แบบปัจเจก ไม่สอดคล้องกับความต้องการและเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต่อสู้และผลักดันการก่อตั้งบจธ. ซึ่งเจตนารมรณ์ในการต่อสู้เรื่องที่ดินสำหรับตน คือ ‘การรักษาที่ดินไว้ให้ได้ใช้ประโยชน์จนถึงลูกหลาน’ ส่วนภาพฝันที่ต้องการให้เกิดขึ้นยังอยู่อีกไกล เพราะบจธ.ไม่เข้าใจตรงนี้ ทำให้การทำงานของบจธ.ไม่สอดคล้องกับสภาพจริงในพื้นที่
“การทำงานของบจธ.ที่ไม่สอดคล้องกับความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาของแต่ละพื้นที่ อย่างเช่น กรณีความล่าช้าในการจัดสรรและอนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อที่ดินในพื้นที่นำร่องโครงการฯ ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านในพื้นที่กำลังได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีและถูกฟ้องไล่ แต่ในพื้นที่นอกเหนือโครงการกลับสามารถจัดซื้อที่ดินได้”
รังสรรค์ แสนสองแคว สหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนป่าซาง กล่าวว่า กลุ่มผู้บริหารบางส่วนของบจธ.ไม่ได้เข้าใจในเจตนารมณ์ของการก่อตั้งธนาคารที่ดินอย่างแท้จริง และสะท้อนว่า การบริหารและดำเนินงานแบบ ‘การนั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง’ เป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหา ณ ขณะนี้ และการที่บจธ.ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาในที่พื้นที่นำร่องในโครงการธนาคารที่ดินได้นั้น เป็นภาพสะท้อนถึงการทำงานของบจธ.ได้เป็นอย่างดี และนำไปสู่การตั้งคำถามว่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ที่เหลือได้อย่างไร
ธนา ยะโสภา สกน.จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ที่ดินสำหรับตน คือ ปัจจัยการผลิต ที่สามารถใช้ผลิตอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงคนทั้งโลก ซึ่งมองว่าแตกต่างจากมุมมองของกลุ่มทุนและเอกชนที่มองที่ดินเป็นสินค้าที่มีมูลค่าในการสร้างรายได้และผลกำไร ส่วนตัวยังคาดหวังว่าการเข้าใกล้ภาพฝันเป็นจริงมากขึ้น แต่ยังมีอุปสรรคหลายอย่างที่ทำให้การดำเนินการของบจธ.ติดขัด โดยเฉพาะเรื่องการอนุมัติงบประมาณที่ล่าช้าในการจัดซื้อที่ดิน
“ส่วนที่ติดขัดในการดำเนินการของบจธ.ในเรื่องงบประมาณการจัดซื้อที่ดินที่ล่าช้าจนไม่สามารถสนับสนุนและอำนวยให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ทันเวลา อาจด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น รัฐบาลดำเนินการอนุมัติงบประมาณล่าช้า ทำให้ล่าช้ากระทบต่อกันมาเป็นทอด ๆ จนถึงประชาชนที่ยังคงอยู่ในระหว่างการถูกดำเนินคดีฟ้องขับไล่ในที่ดินที่เป็นข้อพิพาทกับเอกชน และกลุ่มทุน”
ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ แรงงานวิชาการผู้ติดตามนโยบายป่าไม้ที่ดิน กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของพื้นที่นำร่องในโครงการธนาคารที่ดินนี้เป็นผืนดินที่ได้มาจากการต่อสู้ และยืนยันเจตนารมณ์ของประชาชน ธนาคารที่ดินจึงต้องไม่ใช่องค์กรที่มีหน้าที่ดำเนินการจัดซื้อที่ดินให้ประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความล้มเหลวในการบริหารจัดการที่ดินของรัฐที่ผ่านมา อีกปัญหาตอนนี้คือการดำเนินการของบจธ.ไม่ถูกทิศถูกทาง ในขณะที่ประชาชนมีอุดมการณ์ในการใช้ที่ดินแบบ ‘ที่ดินคือชีวิต’ และยืนหยัดในรูปแบบของการใช้ประโยชน์แบบกรรมสิทธิ์ร่วม ซึ่งมีความยั่งยืนในการใช้ประโยชน์และบริหารจัดการที่ดินมากกว่าการมองที่ดินเป็นสินค้าแบบมุมมองของหน่วยงานรัฐ
“ขอถามกลับว่า ในประเทศไทยมีผืนดินแห่งไหนที่มีความยั่งยืนในการใช้ประโยชน์ที่ดินมากกว่าพื้นที่โครงการนำร่องธนาคารที่ดินหรือไม่? สิ่งที่พิสูจน์ว่าการใช้ประโยชน์ในรูปแบบนี้มีความยั่งยืนคือการที่ผืนดินตรงนี้หล่อเลี้ยงชีวิตคนมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ในเมื่อผืนดินตรงนี้ความยั่งยืนในการใช้ประโยชน์ แล้วเหตุใดจึงไม่รับรองกรรมสิทธิ์การใช้ที่ดินเสียที”
กุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนวยการบจธ. ชี้แจงประเด็นความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณว่า ในการของบประมาณในแต่ละปี มักไม่ได้รับการอนุมัติ เนื่องจากรัฐบาลให้เหตุผลว่าบจธ.ไม่มีความมั่นคงชัดเจนในการก่อตั้งเป็นองค์กรระยะยาว ที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณเดิมที่ได้ตั้งแต่ปี 2557 อย่างไรก็ตาม ในการของบประมาณในปี 2567 จำนวน 1,500 ล้านบาทโดยประมาณ มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะได้รับการอนุมัติงบประมาณ และทางบจธ.ได้บรรจุแผนของสกน. ไว้ในแผนงบประมาณสามพื้นที่ได้แก่ ชุมชนบ้านศรีเตี้ย ชุมชนบ้านหนองเขียด อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน และชุมชนสันป่าเหียง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

สกน.ขีดเส้นตาย ‘บจธ.ปฏิรูปองค์กร’ ภายในหนึ่งเดือน พร้อมเดิมพันนโยบายรัฐบาลใหม่

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ เสนอว่า เมื่อบจธ.เป็นเครื่องมือของประชาชนที่ก่อตั้งขึ้นมาจากการต่อสู้เพื่อที่ดินของประชาชนแล้ว ดังนั้น ข้อเสนอจึงไม่ใช่เฉพาะการปรับโครงสร้างการบริหารของบจธ. แต่ต้องปรับมุมมองและทัศนคติในการกระจายอำนาจในการถือครองที่ดินด้วย ส่วนมุมมองในขบวนการต่อสู้เพื่อที่ดินของประชาชน เห็นว่าคงหวังพึ่งเฉพาะกลไกบจธ.อย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องขับเคลื่อนในมิติอื่น ๆ เช่นกัน
“มองว่าขณะนี้ บจธ.เหมือนเขื่อนที่กำลังจะแตก และทิศทางการดำเนินการของบจธ.มีผลต่อการกระจายอำนาจการถือครองที่ดินของประชาชน สิ่งที่สำคัญคือ เราจะกระจายที่ดินจากมือใครมาสู่ใคร ถ้าหากไม่มีมุมมองในการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบใหม่ ๆ อย่างกรรมสิทธิ์ร่วมหรือการใช้ประโยชน์แบบหน้าหมู่ และไม่กระจายการถือครองที่ดินจากกลุ่มทุน/เอกชน มายังผู้ถือคันไถ ในอนาคตคงไม่มีอะไรมายืนยันได้ว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืนจนอยู่ถึงรุ่นลูกหลานจะเกิดขึ้นได้หรือไม่”
รังสรรค์ แสนสองแคว เสนอว่า บจธ.ต้องจัดการเรื่องสิทธิเหนือพื้นดินทั้ง 3 พื้นที่ ได้แก่ ชุมชนบ้านแพะใต้ อ.เวียงหนองล่อง ชุมชนบ้านท่ากอม่วง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน และชุมชนบ้านโป่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน ปี2566 และย้ำว่า บจธ.ไม่ใช่องค์กรเชิงพานิชย์ ดังนั้น บจธ.ต้องไม่แสวงหาผลกำไรจากเกษตรกร
“หากบจธ.ไม่สามารถดำเนินการให้โครงการในพื้นที่นำร่องบรรลุได้ บจธ.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความล่าช้านี้ และบจธ.ต้องปฏิรูปองค์กร โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้าง และทัศนคติในการทำงานของผู้บริหารองค์กรที่ไม่เข้าใจถึงเจตนารมณ์ในการก่อตั้งธนาคารที่ดิน จึงนำมาสู่ข้อเสนอให้เปลี่ยนผู้บริหารองค์กร ภายในเดือนกันยายนนี้เช่นเดียวกันสุดท้าย”
ธนา ยะโสภา และสุแก้ว ฟุงฟู สกน.จังหวัดลำพูน สะท้อนว่าให้มีการอนุมัติงบประมาณที่คล่องตัว ทันต่อเวลา และเห็นว่าการที่ทางบจธ.จัดทำแผนงบประมาณประจำปี แล้วมักไม่ได้รับการอนุมัตินั้น อาจเป็นเพราะผลการดำเนินงานของบจธ.ไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน หากเป็นเช่นนี้ต่อไปบจธ.มีโอกาสสูงมากในการถูกยุบองค์กร
ด้านกุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนวยการ บจธ. ยืนยันว่าทุกข้อเสนอในครั้งนี้ จะรับไว้พิจารณาและดำเนินการต่อไป พร้อมทั้งย้ำว่า บจธ.เป็นองค์กรที่จะสนับสนุนและเอื้ออำนวยให้ประชาชนมีที่ทำกินแน่นอน และการดำเนินการของบจธ.หลังจากนี้จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

'ธนาคารที่ดินจะต้องปรับตัวเคียงข้างควบคู่ร่วมกับภาคประชาชนที่เป็นต้นคิดค้น เพื่อเป้าหมายกระจายการถือครองที่ดินโดยธรรม' สกน.แถลงการณ์ย้ำเตือนเจตจำนงแห่งการก่อเกิดธนาคารที่ดินกับความหวังของการปรับตัวเคียงข้างประชาชน


ช่วงสุดท้ายของงาน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือได้อ่านแถลงการณ์ “เจตจำนง แห่งการก่อเกิดธนาคารที่ดิน กับความหวังของการปรับตัวเคียงข้างประชาชน” โดยมีข้อเสนอต่อการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ดังนี้
1. จากการหารือระหว่างโครงการนำร่องธนาคารที่ดินร่วมกับสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน จนได้แนวทางในการแก้ไขปัญหาโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 4 พื้นที่ ในรูปแบบการเช่าซื้อ และสิทธิเหนือผืนดิน นั้น ล่วงเลยมาแล้วกว่า 3 เดือน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เราจึงขอเสนอให้ทางประธานผู้อำนวยการบจธ. ในฐานะผู้ตัดสินใจเห็นชอบแนวทาง ให้ยืนยันและรับหลักการที่ได้ข้อสรุปร่วมกันอย่างเร่งด่วนที่สุด โดยใช้ระยะเวลา 1 เดือน หลังจากการหารือวันนี้ ถ้าทางประธานผู้อำนวยการบจธ. ไม่สามารถดำเนินการได้ตามข้อสรุปได้ เราขอให้ประธานคณะกรรมการผู้อำนวยการบจธ.ลาออก เพื่อรับผิดชอบต่อกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่เป็นหัวใจหลักในการก่อเกิดธนาคารที่ดินได้ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของ พรฏ. ได้
2. ระยะเวลาการรอคำตอบจากบจธ. ระยะเวลา 1 เดือน เราจะประสาน ขบวนการภาคประชาชน และส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมต่อแนวทางต่อไปต่อท่าทีของบจธ. ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อข้อเสนอภาคประชาชน
3. เราขอเสนอให้เกิดการปฏิรูปองค์กร และเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนรวมกำหนด ออกแบบธนาคารที่ดิน ที่จะเป็นหัวใจในการลดความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินได้อย่างแท้จริง และตรงตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชน
4. เร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาการประสานและจัดซื้อที่ดินตามพื้นที่เป้าหมายที่มีข้อพิพาท เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเกษตรกรรายย่อยโดยเร็วอย่างเป็นรูปธรรม
5. เร่งรัดประสานเบื้องต้น ไปยังกลุ่มที่จะดำเนินคดีความกับชุมชน และเปลี่ยนมือที่ดิน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่รอการดำเนินการจากบจธ. โดยทำหนังสือถึงเจ้าของที่ดินให้ชะลอการดำเนินการใด ๆ ที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมาย และประสานเพื่อมิให้ขายเปลี่ยนมือในที่ดินที่มีข้อพิพาท
การยืนหยัดเชื่อมั่นตามเจตนารมณ์ของการก่อเกิดสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน จะปรับตัวเคียงข้างควบคู่ร่วมกับภาคประชาชนที่เป็นต้นคิดค้น เพื่อเป้าหมายกระจายการถือครองที่ดินโดยธรรม