• 2 พ.ย. 2567 06:09
เสียงจากชุมชนบ้านแม่ส้านกับการ(ต้อง)ปรับวิถีเกษตรกรรม

เสียงจากชุมชนบ้านแม่ส้านกับการ(ต้อง)ปรับวิถีเกษตรกรรม

เสียงจากชุมชนบ้านแม่ส้านกับการ(ต้อง)ปรับวิถีเกษตรกรรม

ท่ามกลางสภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง และสภาวการณ์ทางการเมืองไทยยังอยู่ในห้วงสุญญากาศ ชีวิตของประชาชนในระดับพื้นที่ก็ยังคงดำเนินต่อไปควบคู่ไปกับการส่งเสียงเพื่อสื่อสารถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและเสนอข้อเรียกร้องไปยังหูผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้เกิดความเข้าใจในสิทธิของชุมชนและสิทธิของประชาชนอย่างถ่องแท้

ชุมชนบ้านแม่ส้าน ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลําปาง เป็นชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ อยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่เมาะ 80 กิโลเมตร บ้านแม่ส้านมีพื้นที่ที่ดูแลรักษาอยู่ทั้งหมด 18,102 ไร่ คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่หมุนเวียน ทำสวนกาแฟ และมีมะแขว่นที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของชุมชน


นอกจากไร่หมุนเวียนที่เป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญต่อการยังชีพของคนในชุมชน บางครอบครัวจะปลูกข้าวในนาในพื้นที่ราบด้วย ซึ่งโดยปกติในแต่ละปีปริมาณผลผลิตข้าวที่ได้จากทั้งไร่หมุนเวียนและนาจะเพียงพอต่อความต้องการของแต่ละครัวเรือน แต่จากสภาพอากาศที่แปรเปลี่ยนไปจนทำให้เกิดวิกฤตการณ์ภัยแล้งในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การปลูกข้าวแบบนาดำที่ต้องอาศัยน้ำฝนตามฤดูกาลได้ผลผลิตน้อยลง คนในชุมชนที่ปลูกข้าวแบบนาดำจึงปรับมาปลูกแบบ“นาแห้ง” มากขึ้น
การทำนาแห้งหรือนาหยอด เป็นการนำระบบการปลูกข้าวในไร่หมุนเวียนมาปรับใช้ คือ จากเดิมเป็นการปลูกข้าวจากการใช้ต้นกล้าข้าวมาดำนา เปลี่ยนมาเป็นการหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวหลังจากการไถเตรียมดิน ซึ่งสามารถทำได้หลังฝนตกเพียงไม่กี่ครั้งและไม่ต้องอาศัยน้ำฝนในปริมาณมาก เช่นเดียวกันกับไร่หมุนเวียนที่เมื่อฝนตกครั้งแรกของปีก็สามารถเริ่มหยอดข้าวได้เลยเช่นกัน และเมล็ดพันธุ์ข้าวที่นำมาใช้ในการทำนาแห้ง จะเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวจากไร่หมุนเวียนเพราะมีความต้องการน้ำน้อยและมีความทนต่อสภาพอากาศมากกว่า แต่ผลผลิตที่ได้จากการทำนาแห้งก็ยังคงน้อยกว่าเท่าที่ควร เพราะสภาพพื้นที่เป็นที่ราบจะเหมาะกับการทำนาดำมากกว่า คนในชุมชนเห็นว่า หากในปีถัดไปฝนตกตามฤดูกาลและมีน้ำเพียงพอ ก็จะกลับมาปลูกข้าวแบบนาดำเช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ทำให้ผลผลิตข้าวของคนในชุมชนบ้านแม่ส้านลดลง การบังคับใช้คำสั่ง นโยบาย และกฎหมายโดยรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สร้างความกังวลใจและความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับชุมชนในพื้นที่ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติปี 2562 ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชน รวมถึงคำสั่งประกาศห้ามเผาฯ ของทางจังหวัดลำปางที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งทางชุมชนก็ต้องปรับวิถีการดำรงชีวิตและการทำเกษตรกรรมเพื่อให้สอดคล้องคำสั่ง นโยบาย และกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ จนทำให้ผลผลิตข้าวที่ได้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาลดน้อยลงจากเดิมกว่าครึ่ง หรือในบางครอบครัวก็ต้องซื้อข้าวกิน เพราะผลผลิตไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพตลอดทั้งปี
ท่ามกลางสภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง และสภาวการณ์ทางการเมืองไทยยังอยู่ในห้วงสุญญากาศ ชีวิตของประชาชนในระดับพื้นที่ก็ยังคงดำเนินต่อไปควบคู่ไปกับการส่งเสียงเพื่อสื่อสารถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและเสนอข้อเรียกร้องไปยังหูผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้เกิดความเข้าใจในสิทธิของชุมชนและสิทธิของประชาชนอย่างถ่องแท้ จนสามารถแก้ไขปัญหาที่ยืดเยื้อเหล่านี้ให้ยุติลง ซึ่งเป็นที่น่าจับตาว่าสุดท้ายแล้วแนวทางในการบริหารประเทศของรัฐบาลในห้วงวาระนี้จะเป็นไปในทิศทางใด ปัญหาทุก ๆ ระดับที่เกิดขึ้นกับประชาชนจะได้รับการแก้ไข สิทธิของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจจะได้รับการเคารพและรับรองสิทธิหรือไม่ ยังคงต้องติดตามต่อไป