• 21 พ.ย. 2567 16:53
เลื่อนเวทีรับฟังความเห็นอุทยานฯ ถ้ำผาไท เหตุขัดแย้งในพื้นที่ กระบวนการในชุมชนไม่ชัดเจน ปลัด ทส. แจงขอนัดหารือชุดเล็กที่กระทรวง

เลื่อนเวทีรับฟังความเห็นอุทยานฯ ถ้ำผาไท เหตุขัดแย้งในพื้นที่ กระบวนการในชุมชนไม่ชัดเจน ปลัด ทส. แจงขอนัดหารือชุดเล็กที่กระทรวง

เลื่อนเวทีรับฟังความเห็นอุทยานฯ ถ้ำผาไท เหตุขัดแย้งในพื้นที่ กระบวนการในชุมชนไม่ชัดเจน ปลัด ทส. แจงขอนัดหารือชุดเล็กที่กระทรวง

เลื่อนเวทีรับฟังความเห็นประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท จ.ลำปาง ไม่มีกำหนด เหตุขัดแย้งในพื้นที่ รัฐ-ชาติพันธุ์ กระบวนในชุมชน-แผนที่ไม่ชัดเจน ด้านปลัด ทส. แจงพีมูฟ ขอนัดหารือชุดเล็กที่กระทรวง

6 ก.ย. 2566 เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) ได้รับรายงานด่วนจาก สมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้าน บ้านกลาง หมู่ที่ 5 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ว่าได้รับแจ้งจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 ขอเลื่อนการจัดเวทีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกําหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท จ.ลำปาง ในระหว่างวันที่ 4-8 ก.ย. นี้ออกไปก่อน เนื่องจากกระบวนการในระดับพื้นที่ยังไม่มีความชัดเจน ต้องมีการสำรวจแนวเขตใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับกลุ่มชาติพันธุ์และผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ หลังจากเมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่ผ่านมา การจัดเวทีครั้งแรก ณ ที่ว่าการอำเภองาว จ.ลำปาง ชุมชนชาติพันธุ์ใน อ.งาว ได้เข้าร่วมเวทีและคัดค้านการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไททับพื้นที่การใช้ประโยชน์เดิมของชุมชน
สมชาติมองว่าการดำเนินการเลื่อนการจัดเวทีนั้นเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากอุทยานฯ ไม่มีความพร้อม บกพร่องในด้านข้อมูลระดับพื้นที่ และเห็นด้วยว่าต้องมีการสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน ไม่ควรจัดเวทีโดยพลการ เพราะจะขาดการตรวจสอบ และมีผลกระทบต่อประชาชนทุกคนในอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท
“ในการขอเลื่อนเวทีเป็นสิ่งที่เขาต้องไปปรับปรุงและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้คนในพื้นที่ เป็นนิมิตรหมายที่ดี เป็นเพราะพี่น้องประชาชนออกมาลุกขึ้นสู่ส่งเสียงให้รัฐฟัง ไม่ใช่ไปลักไก่และสร้างปัญหาเพิ่มเติม ต้องมีการตรวจสอบและทำความเข้าใจกับชาวบ้านไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต เขาขอเวลา และจะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนมาทำความเข้าใจใหม่” สมชาติกล่าว
ด้าน ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) แจ้งเพิ่มเติมว่า ได้มีการรายงานข้อสังเกตจากเวทีการรับฟังความเห็นเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 ณ ที่ว่าการอำเภองาว จ.ลำปาง ไปยัง จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปลัดฯ ได้สั่งการไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้เลื่อนเวทีทั้งหมดออกไป ก่อนนัดผู้เกี่ยวข้องเข้าหารือที่กระทรวงฯ หลังจากนี้


พีมูฟเปิด 6 ข้อสังเกตความไม่ชอบธรรม เวทีรับฟังความเห็นอุทยานฯ ถ้ำผาไท

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 ในเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) จ.ลำปาง ณ ที่ว่าการอำเภองาว จ.ลำปาง ผู้แทนจากพีมูฟได้เข้าสังเกตการณ์เวทีดังกล่าว และตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบธรรมในเวที 6 ประเด็น ดังนี้
1. วัตถุประสงค์ตามเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นมีลักษณะกล่าวโทษชาวบ้าน เช่น อ้างว่ามีการลอบตัดไม้หวงห้าม ขบวนการค้าไม้ส่งออกต่างประเทศ การบุกรุกที่ดิน การเผาป่า ไฟลุกลามจากการทำการเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งเป็นการมองชุมชนด้วยอคติตั้งแต่ต้น และหน่วยงานในพื้นที่เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง โดยก่อนหน้านั้นมีกรณีข้อพิพาทและคดีความเกิดขึ้นในพื้นที่แล้วหลายกรณี
2. การประสานงานไม่ทั่วถึง ไม่มีการทำหนังสือเชิญชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เตรียมการประกาศมาเข้าร่วม ขัดกับหลักความโปร่งใสและเป็นธรรม โดยพบว่ามีผู้นำชุมชนหลายชุมชนไม่ได้มาเข้าร่วมการประชุม หรือมาร่วมประชุมผ่านการประสานงานของเครือข่ายชาติพันธุ์ จ.ลำปาง ด้วยตนเอง
3. การเตรียมความพร้อมของเวที ไม่มีการรับรองและอำนวยความสะดวกให้ชาวบ้าน เช่น เก้าอี้ น้ำดื่ม ขณะที่ก่อนการจัดเวที 1 วันมีการประสานงานมายังแกนนำชาวบ้านเพื่อสอบถามว่าจะมีตัวแทนจากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.: P-Move) เข้าร่วมหรือไม่ และอ้างว่าคนนอกเข้าที่ประชุมไม่ได้ เนื่องจากสถานที่ไม่เพียงพอรับรอง
4. ในบางชุมชนมีการเข้าไปดำเนินการปักหลักเขตในพื้นที่โดยไม่ประสานงานชุมชนเข้าร่วม ซึ่งเมื่อสอบถามในเวที เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่ายังเป็นแนวเขตเก่าตามกฎหมายฉบับเก่า (พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504) และต้องมีการปรับปรุงภายหลัง ทำให้ชุมชนไม่อาจยอมรับได้ เพราะหมายความว่าแนวเขตใหม่ยังไม่แล้วเสร็จก่อนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น
5. ชาวบ้านขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่แสดงแผนที่การเตรียมการประกาศเป็นรายชุมชนเพื่อตรวจสอบว่าแนวเขตทั้งหมดของชุมชน ทั้งที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และป่าชุมชน ได้กันพื้นที่ออกแล้ว ร่วมมือกับชุมชนกันพื้นที่ออกให้เป็นข้อยุติ แต่เจ้าหน้าที่กลับใช้เวทีนั้นในการชี้แจงเงื่อนไขตามกฎหมายแทน โดยเจ้าหน้าที่ต่างอ้างนโยบายการเพิ่มพื้นที่ป่าของรัฐบาลและกระทรวงฯ ในการประกาศอุทยานฯ ครั้งนี้ โดยเฉพาะตัวเลขป่าอนุรักษ์ 25 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นยังพบว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถชี้แจงแนวเขตของชุมชนได้ เช่น ชุมชนขอให้จัดพิมพ์แผนที่ส่งให้ชุมชนตรวจสอบ แต่เจ้าหน้าที่กลับตอบว่าแผนที่ยังต้องไปทำต่อ แสดงถึงความไม่พร้อมของหน่วยงานเอง
6. พื้นที่นี้จะเป็นอุทยานแห่งชาติที่ประกาศหลังพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ หมายความว่าจะไม่สามารถเข้าสู่มาตรา 64 และมาตรา 65 ได้ แต่เจ้าหน้าที่กลับชี้แจงว่าหลังจากนี้จะมีการจัดทำโครงการร่วมกัน เรียกว่า มาตรา 64-65 เฟด 2 ซึ่งชุมชนไม่อาจไว้วางใจและยอมรับได้ จึงกลับไปที่ข้อเสนอเดิมที่ควรจะเกิดขึ้นก่อนจัดเวทีแล้ว คือการกันพื้นที่ออกจนมีข้อยุติร่วมกับชุมชนให้ได้ก่อน
ซึ่งจากข้อสรุปในวันนี้ที่ได้รับแจ้งจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้เวทีรับฟังความเห็นที่จะจัดขึ้น ณ อ.วังเหนือ และ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ในวันที่ 7 และ 8 ก.ย. นี้ ถูกเลื่อนไปได้


ปกาเกอะญอ ‘แม่จอกฟ้า’ ร่วมเวที อ.แจ้ห่ม ยันขอมีข้อยุติแนวเขตในพื้นที่ จี้รื้อถอน ‘ปลูกป่า’ ทับชุมชน

ขณะที่ความเคลื่อนไหว ณ ที่ว่าการอำเภอแจ้ห่ม จ.ลำปาง เวทีรับฟังความคิดเห็นประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ในวันนี้ (6 ก.ย. 2566) เวลาประมาณ 11.00 น. ชาวปกาเกอะญอบ้านแม่จอกฟ้า หมู่ที่ 8 ต.ทุ่งผึ้ง อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 ลำปาง ยืนยันข้อเรียกร้องของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จ.ลำปาง คือให้ดำเนินการสำรวจข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกับชุมชนให้เป็นที่ยุติร่วมกัน และกันแนวเขตที่ดินเดิมของชุมชนออกจากพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท
ในกรณีชุมชนบ้านแม่จอกฟ้า หมู่ที่ 8 ต.ทุ่งผึ้ง อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง นั้น เป็นชุมชนปกาเกอะญอดั้งเดิมที่ถูกทับซ้อนด้วยป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แจ้ฟ้า ก่อนจะถูกรุกไล่จากโครงการปลูกป่าทับพื้นที่ทับกินและป่าชุมชนอยู่หลายระลอก เกิดเป็นผลกระทบต่อการดำรงชีวิต สร้างความมั่นคงทางอาหาร และสร้างรายได้ให้ครัวเรือน และยังเป็นพื้นที่เป้าหมายในการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ซึ่งที่ผ่านมาเรายืนยันว่าชุมชนไม่เคยได้รับคำชี้แจงอย่างเป็นธรรม ซื่อตรงจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ รวมถึงไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและการเปิดการมีส่วนร่วมใดๆ ก่อนจะทราบภายหลังว่าจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทยในวันนี้
และมีข้อเรียกร้องเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการปลูกป่าทับที่ทำกินและป่าชุมชน ให้เร่งดำเนินการรื้อถอนโครงการปลูกป่าทุกรูปแบบที่ได้ดำเนินการทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินและป่าชุมชนของบ้านแม่จอกฟ้า รวมถึงยุตินโยบายว่าด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่าในรูปแบบการปลูกป่าทับซ้อนกับชุมชนดั้งเดิมทุกกรณี ทั้งนโยบายการเพิ่มพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์ตามแผนคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และการเอื้อกลุ่มทุนฟอกเชียวปลูกป่าค้าคาร์บอนเครดิต ตามแนวนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และเป้าหมายการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero