• 19 ก.ย. 2567 04:25
ชาวกะเหรี่ยงดอยสะเก็ดค้านโครงการจัดที่ดิน คทช. ชี้ขัดวิถีชาติพันธุ์ ยันสิทธิอยู่มาก่อนเขตป่า

ชาวกะเหรี่ยงดอยสะเก็ดค้านโครงการจัดที่ดิน คทช. ชี้ขัดวิถีชาติพันธุ์ ยันสิทธิอยู่มาก่อนเขตป่า

ชาวกะเหรี่ยงดอยสะเก็ดค้านโครงการจัดที่ดิน คทช. ชี้ขัดวิถีชาติพันธุ์ ยันสิทธิอยู่มาก่อนเขตป่า

ชาวกะเหรี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ 2 หมู่บ้าน ยื่นกรมป่าไม้-กรมอุทยานฯ ค้านโครงการจัดที่ดิน คทช. ชี้หลักเกณฑ์ขัดวิถีชาติพันธุ์ ยันสิทธิอยู่มาก่อน กม. ป่าไม้ทุกฉบับ

5 ส.ค. 2566 ชาวกะเหรี่ยงบ้านห้วยผาตื่น หมู่ที่ 5 และหย่อมบ้านดอย หมู่ที่ 2 ต.ป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ประมาณ 40 คน พร้อมด้วยสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้เดินทางไปที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมป่าไม้ และ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อขอให้ยุติการดำเนินโครงการภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในพื้นที่ชุมชน โดยมี ณัฐธยาน์ ปรวัฒน์พงศ์ หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่หวาน เป็นผู้รับหนังสือแทน
หนังสือดังกล่าวระบุว่า ทั้ง 2 ชุมชนได้ขับเคลื่อนเรื่องของการแก้ไขปัญหา ด้านที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ยืนยันตามวิถีชีวิตกะเหรี่ยง และการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน ร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จนเมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2566 ได้มีการจัดประชุมขึ้น ณ ต.ป่าเมี่ยง ชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อของการดำเนินการรูปแบบ คทช. ซึ่งชุมชนบ้านห้วยผาตื่นได้ร่วมเข้าประชุมในการชี้แจงด้วย ชุมชนเห็นว่า แนวทาง คทช. ขัดต่อรูปแบบการรับรองสิทธิชุมชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 – 2560 และมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง
“เห็นข้อจำกัดมากมายที่จะทำให้ชุมชนที่อยู่มาก่อนการประกาศกฎหมายป่าไม้ทุกฉบับของรัฐ จะทำให้ชุมชนสูญเสียสิทธิและกลายเป็นผู้บุกรุก ภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดของ คทช.” หนังสือระบุ

ยัน 5 แนวทางจากชุมชน แก้ปัญหาที่ดิน-ชาติพันธุ์

ในหนังสือดังกล่าว ระบุจุดยืนและข้อเรียกร้องของชุมชน ดังนี้
1. ก่อนการประกาศพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หรือ มติ ครม. ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น ในพื้นที่ชึ่งถูกระบุว่าเป็นป่านั้นมีราษฎรอาศัยอยู่และทำมาหากินอยู่ก่อนแล้ว ราษฎรเหล่านั้นอยู่มาก่อนและสืบมรดกตกทอดที่อยู่อาศัยและทำกิน ดูแลรักษาทรัพยากรจากรุ่นสู่รุ่น จนถึงปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนวิถีการทำมาหากิน จากไร่เหล่า ไร่ข้าว เป็นสวนผสมผสาน ดังนั้นชุมชนบ้านผาตื่น จึงยืนยันว่าราษฎรเหล่านี้เป็นเจ้าของที่ แต่รัฐ ไม่มีระบบกรรมสิทธิที่เหมาะสมในการรับรอง และพยายามออกแบบให้อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิ
2. รูปแบบการจัดการที่ดิน ภายใต้ คทช. คือการขอใช้ประโยชน์ในที่ทำกิน โดยใช้เงื่อนไข มติ ครม. หลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ โดยใช้ชั้นลุ่มนำ้ 3 – 4 - 5 กลายเป็นคนขอใช้ประโยชน์จากผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนในชั้นลุ่มน้ำ 1 - 2 ให้อนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศ กลับทำให้ที่ทำกินเดิม หรือระบบไร่เหล่า กลายเป็นการปลูกป่าในที่ของราษฎร ใช้กฎหมายเป็นข้อจำกัด ทำให้สูญเสียที่ดิน
3. การพิสูจน์สิทธิพื้นที่ตาม มติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 ทั้งการใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ที่ไม่ครอบคลุมทุกชั้นปี และกระทบต่อระบบวิถีชีวิตแบบหมุนเวียน ทำให้ไม่สอดคล้องกับสภาพวิถีการใช้ประโยชน์ของราษฏร
4. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยึดถือแนวทางโฉนดชุมชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 และ พ.ศ. 2554 เป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหา และแนวทาง มติ ครม. 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง มาเป็นแนวทางพิจารณาในการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน จนกว่าจะมีความชัดเจนนโยบาย
5. ขอให้ทางเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ ในพื้นที่บ้านห้วยผาตื่นและบ้านดอย ต.ป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เพื่อให้เกิดเวทีและชี้แจงทำความเข้าใจกับการดำเนินโครงการต่างๆ กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยผ่านการประชาคมและการมีส่วนร่วมของชุมชนได้อย่างแท้จริง

ได้ข้อสรุปลงพื้นที่ชี้แจง-สำรวจแนวเขตร่วมกัน 9 ส.ค. นี้ ย้ำชุมชนมีสิทธิไม่รับ คทช.

จรัสศรี จันทร์อ้าย ตัวแทนชาวบ้านห้วยผาตืน กล่าวว่า ชาวบ้านไม่ด้วยกับ คทช. ด้วยเหตุผลว่าเราอยู่ทำกินมาก่อนที่จะมีการประกาศเขตป่า ซึ่งป่ามาทีหลัง แต่ชาวบ้านอยู่มาก่อน
“เมื่อก่อนเราทำไร่หมุนเวียนจนท่านทั้งหลายบอกให้เราคืนป่า เราก็คืนเป็นสวนป่า ตอนนี้มีแต่ที่สวนและที่อยู่อาศัยของเรา จะไม่มีอะไรเหลืออยู่แล้ว เราจึงฝากไปทางหัวหน้าว่าเราไม่เอา คทช. บ้านเราเป็นพื้นที่ต้นน้ำชั้น 1A แนวทาง คทช. ไม่เหมาะสมกับเรา” ตัวแทนชาวบ้านย้ำ
ด้าน วิศรุต ศรีจันทร์ กองเลขานุการขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) กล่าวว่า ที่ชาวบ้านยืนยันคือเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่อยู่มาก่อนกฎหมาย ซึ่งชาวบ้านควรมีสิทธิมากกว่ากฎหมายที่มาจำกัดว่าต้องอยู่ตามเงื่อนไขชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ หรือเงื่อนไขภาพถ่ายทางอากาศปี 2545 เขาควรได้รับสิทธิ ไม่ใช่ต้องมาขออนุญาต และเสนอให้อุทยานฯ และป่าสงวนฯ เข้าไปจัดเวทีในระดับพื้นที่
“อุทยานฯ ควรไปจัดเวทีในระดับพื้นที่ แล้วให้คุยกันอย่างตรงไปตรงมาว่ามีเงื่อนไขการใช้ที่ดินแบบไหน ใครจะเข้าสำรวจตามแนวทาง คทช. ก็เข้า แต่ชาวบ้านมีสิทธิยืนยันว่าจะไม่เข้าก็ได้ นอกจากนั้นมีแนวนโยบายอื่นๆ อีก เช่น มติ ครม. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีอื่นๆ ซึ่งหัวหน้าควรไปศึกษา” วิศรุตกล่าว
ณัฐธยาน์ ปรวัฒน์พงศ์ หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่หวาน ได้รับหนังสือไว้ และกล่าวว่าให้นำข้อเท็จจริงในพื้นที่มาคุยกัน เช่น หาหลักฐานการอยู่อาศัยและทำกิน ถามจากคนที่อยู่มานาน หากต้องการใช้มติ ครม. 3 ส.ค. 2553 ก็ทำได้
“อยากให้ทุกแปลงที่มีตัวตนอยู่ในพื้นที่แสดงตัวว่ามีตัวตนอยู่ เมื่อพิสูจน์สิทธิเสร็จแล้วจะใช้อะไรก็ได้ เช่น มติ ครม. ของกระทรวงวัฒนธรรม ขอให้นำข้อเท็จจริงมา ให้รัฐรู้ก่อนว่าอยู่ตรงไหน” ณัฐธยาน์กล่าว
นอกนากนั้นยังได้พูดคุยกับชุมชน ตัวแทนอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ และหน่วยงานอื่นในระดับพื้นที่เบื้องต้น ได้ข้อสรุปว่าจะมีการลงพื้นที่เพื่อชี้แจงเงื่อนไขของ คทช. และสำรวจแนวเขตที่คลาดเคลื่อนร่วมกับชุมชนต่อไป ในวันที่ 9 ส.ค. นี้